Last updated: 17 Sep 2022 |
การทำบุญ 10 วิธี
ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน 10 วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 (สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ) คือ
1.ให้ทาน
แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และความยึดติดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม
2.รักษาศีล
เป็นการฝึกฝนที่จะลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงามและพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ
3. เจริญภาวนา
การภาวนา เป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้นสูงขึ้น
4. อ่อนน้อมถ่อมตน
การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ การอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิดความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน
5. การช่วยเหลือสังคมรอบข้าง
ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือก็เป็นบุญ
6. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา
ชักชวนคนอื่นมาทำความดีร่วมกัน หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วม ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย
7. ยอมรับยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น
การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนา ไม่อิจฉา หรือระแวงสงสัย ในการกระทำความดีของผู้อื่น
8. ฟังธรรม
บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสวฟังธรรมะฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี
9. แสดงธรรม
ให้ธรรมะข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรมนำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟังให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี
10. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม
มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็นความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ
การตรวจสอบผลบุญจากการให้ทาน
ในการให้ทานนั้น การวัดว่าได้บุญมาก - บุญน้อยมีหลักเกณฑ์สำหรับวัดอยู่ 3 ประการคือ
1. ผู้รับ
เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม มีความดี เราก็ได้บุญมาก ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าผู้รับจะต้องเป็นพระสงฆ์เสมอไป อาจเป็นสามเณร แม่ชี หรือคฤหัสถ์ ชาวบ้านก็ได้ แต่หากผู้รับเป็นคนไม่มีศีล เราก็ได้บุญน้อย เพราะเขาอาจอาศัยผลจากของที่เราให้ไปทำไม่ดี
2. วัตถุสิ่งของที่มอบให้
มีความบริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริตถูกต้อง ไม่ได้ลักขโมยหรือเบียดเบียนใครเป็นของดีมีประโยชน์ มีคุณค่า และมีความเหมาะสมกับผู้รับ เช่น ถวายจีวรแก่พระสงฆ์ ให้เสื้อผ้าแก่เด็กๆ
3. ผู้ให้
เป็นผู้มีศีล มีธรรม มีเจตนาที่เป็นบุญเป็นกุศล ตั้งใจดี ยิ่งถ้าเจตนานั้นประกอบด้วยปัญญา ก็มีคุณสมบัติดีประกอบมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นบุญมากขึ้น
โดยตรวจสอบด้านจิตใจของผู้ให้ว่ามีเจตนาอย่างไร คือ
3.1 เจตนาให้ ตั้งแต่ตอนแรก เริ่มต้นตั้งใจดี มีศรัทธา มีความเลื่อมใส จิตใจเบิกบาน ตั้งใจทำจริง
3.2 เจตนาขณะให้ หรือขณะถวายของให้ ก็จริงใจ จริงจัง ตั้งใจทำด้วยความเบิกบาน ผ่องใส
3.3 เมื่อมอบของไปแล้ว หรือถวายของให้แล้ว หลังจากนั้น ระลึกขึ้นเมื่อใดจิตใจก็อิ่มเอิบผ่องใสขึ้น เกิดความภูมิใจในทานที่ให้ไปว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้รับจริงๆ ระลึกได้เมื่อใดก็ได้บุญเพิ่มขณะนั่น
ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่จะทำให้เราได้บุญมากหรือน้อย
ตอนต่อไปเรามาเรียนรู้กันว่าจะนำผลบุญมาใช้ได้อย่างไร